ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาเปิดเผยการค้นพบ ระบบดาวเคราะห์นอกสุริยจักรวาล ห่างจากโลกแค่ 40 ปีแสง ประกอบด้วยดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกถึง 7 ดวง โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน และอาจสภาพเหมาะสมแก่การมีสิ่งมีชีวิตด้วย...
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถานีกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘สปิตเซอร์’ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา เปิดเผยในวันพุธที่ 22 ก.พ. ว่า พวกเขาค้นพบระบบดาวเคราะห์แห่งแรกที่มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกของเราถึง 7 ดวง โคจรรอบดาวฤกษ์เพียงดวงเดียว และอยู่ห่างจากโลกของเราเพียงแค่ 40ปีแสงเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยจักรวาลของเราทั้ง 7 ดวงล้วนมีโอกาสมีน้ำเหลวอยู่บนดาวหากมีสภาพชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม อย่างไรตามดาวเคราะห์ 3 จาก 7 ดวงนี้ ได้รับการยืนยันว่าอยู่ใน เขตอาศัยได้ (habitable zone) หรือพื้นที่รอบดาวฤกษ์ในระยะที่เหมาะสม ซึ่งดาวเคราะห์ที่อยู่ในพื้นที่นี้มีโอกาสที่จะมีน้ำเหลวอยู่บนดาวมากที่สุด ซึ่งเมื่อมีน้ำก็อาจมีสิ่งมีชีวิต
“การค้นพบครั้งนี้อาจเป็นชิ้นส่วนสำคัญในปริศนาของการค้นหาสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ สถานที่ซึ่งทำให้เกิดชีวิต” นายโธมัส เซอร์บูเชน รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) ของนาซา ในกรุงวอชิงตันกล่าว “การตอบคำถามที่ว่า ‘เราอยู่อย่างเดียวดายในอวกาศ’ เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์ และการพบดาวเคราะห์จำนวนมากในเขตอาศัยได้เป็นครั้งแรกเช่นนี้ เป็นการก้าวสำคัญเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น”
ระบบดาวเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘แทรพพิสต์-1’ (TRAPPIST-1) มาจากชื่อกล้องโทรทรรศน์ ‘Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope’ ในประเทศชิลี ซึ่งค้นพบระบบดาวเคราะห์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยในตอนนั้นพบดาวเคราะห์เพียง 3 ดวง ก่อนที่สถานีกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นหลายแห่งรวมทั้ง สปิตเซอร์ จะยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ 2 ใน 3 ดวงนี้ และค้นพบดาวเพิ่มอีก 5 ดวง รวมเป็น 7 ดวง โดยระบบ แทรพพิสต์-1 อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 40 ปีแสง หรือราว 378 ล้านล้านกิโลเมตร
การค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ (Nature) ในวันพุธ และนาซาจัดงานแถลงข่าวในวันเดียวกันที่กรุงวอชิงตัน
ด้วยการใช้ข้อมูลของกล้อง สปิตเซอร์ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถวัดขนาดของดาวเคราะห์นอกระบบทั้ง 7 ดวงได้อย่างแม่นยำ และสามารถประเมินมวลของดาวเคราะห์ 6 ใน 7 ดวงได้เป็นครั้งแรก พวกเขาจึงสามารถคำนวณความหนาแน่นของพวกมันได้ ซึ่งความหนาแน่นที่วิเคราะห์ออกมาชี้ว่าดาวเคราะห์ทั้ง 6 น่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่ 7 นักวิทยาศาสตร์ยังประเมินมวลไม่ได้ ทำให้พวกเขาเชื่อว่ามันอาจมีสภาพคล้ายก้อนหิมะ และการสังเกตการณ์เพิ่มเติมหลังจากนี้จะไม่เพียงช่วยให้รู้ว่าพวกมันมีน้ำหรือไม่ แต่ยังมีโอกาสเปิดเผยว่าพวกมันมีนำ้เหลวอยู่บนผิวดาวหรือไม่ด้วย
ส่วนดาวฤกษ์ของระบบ แทรพพิสต์-1 หรือดาวฤกษ์ แทรพพิสต์-1 มีขนาดใกล้เคียงดาวพฤหัสบดี แต่มีลักษณะตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ คือถูกจัดอยู่ในประเภทดาวฤกษ์ที่เย็นมาก (ultra-cool dwarf) ซึ่งเย็นขนาดที่ดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้มันมากๆ ก็อาจมีน้ำเหลวอยู่บนผิวดาว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในระบบสุริยะของเรา โดยดาวเคราะห์ที่พบทั้ง 7 ดวงโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ดวงนี้มากกว่าระยะห่างระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์เสียอีก และอยู่ใกล้กันและกันมากด้วยขนาดที่ หากไปยืนบนดาวดวงหนึ่ง ก็สามารถเห็นสภาพธรณีวิทยาหรือเมฆของดาวอีกดวงได้เลย
ดาวเคราะห์ในระบบ แทรพพิสต์-1 ยังหันหน้าเพียงด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ หมายความว่าพื้นที่ของดาวจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนตลอดไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง และอาจมีสภาพอากาศแตกต่างจากโลกของเราด้วย เช่น ลมพัดแรงจากแผ่นดินฝั่งกลางวันไปยังฝั่งกลางคืน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรุนแรง.
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/864706