Top
ข่าวสารและกิจกรรม
หมวดหมู่
เทรนด์การใช้ยารักษาโรค "ผู้สูงอายุ" กับ "สุขภาพ" ที่เจ็บป่วยมากขึ้น
รายละเอียด :

"ยารักษาโรค" หนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์เราเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อทุกการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น หรือที่น่าเป็นห่วงที่สุดอย่าง "ผู้สูงอายุ" นั้น ก็ต่างจำเป็นที่จะต้องพึ่งพายาเพื่อรักษาทั้งสิ้น

เมื่อประเทศไทยของเราเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ยาก็เพิ่มขึ้นตามเงาเช่นกัน ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ ได้ร่วมงานซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South Easth Asia 2019) ที่ทางยูบีเอ็มเอเชีย ประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันได้จัดขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ "ดร.สุชาติ จองประเสริฐ" ผู้อำนวยการสำนักยา กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกกล่าวถึงเทรนด์การใช้ยาในกลุ่มของผู้สูงอายุให้เราได้ฟังไว้อย่างน่าสนใจอย่างมาก เราไปฟังพร้อมๆ กัน

สถานการณ์การใช้ยา

ดร.สุชาติ บอกถึงสถานการณ์ในการใช้ยาในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของการใช้ยาที่กำลังจะเกิดขึ้นไว้ว่า "โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคส่วนมากไม่ได้บริโภคยาด้วยตนเอง เพราะทุกคนจะไปหาหมอหรือเภสัช เพื่อให้เขาจ่ายยาให้ ซึ่งธรรมชาติของตรงนี้จะไม่ค่อยเปลี่ยน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนคือผู้บริโภคจะสามารถหาซื้อยามากินเองได้ ส่วนนั้นก็จะเป็นในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือเสริมอาหารต่างๆ"

"องค์การอนามัยโลก เคยมีนโยบายหรือแนวทางในการปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่า การดูแลรักษาตนเองด้วยยา หมายถึง หากเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ 2-3 วัน ก็หายเองได้นั้น ทุกท่านสามารถไปหาซื้อยาได้ด้วยตัวเอง ถ้าสมมตินโยบายนี้มีความเข้มแข็งและมีการส่งเสริมมากขึ้น จะมียาอยู่กลุ่มหนึ่งที่ต่างประเทศเรียกว่า OTC (OTC drugs หมายถึง ยาที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อได้เองจากร้านค้าหรือร้านขายยาทั่วๆ ไป โดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์) ทุกท่านก็จะไปหาซื้อได้เองเพื่อใช้ในรักษา ซึ่งถ้าสามารถเกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นข้อดี ข้อดีตรงที่ว่านี้คือผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นท่านควรสังเกตว่า...บางลักษณะของการเจ็บป่วย เราสามารถใช้ยาเพื่อดูแลตนเองได้ หรือที่บ้านเราเรียกว่ายาสามัญประจำบ้าน หากรายการยาพวกนี้มีมากยิ่งขึ้น ทุกคนก็จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนเท่าไรนัก และนอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังถือว่าเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเขาจะมีความเจ็บป่วยได้ง่าย หากสามารถเข้าถึงยาที่มีความปลอดภัยพวกนี้ได้ก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ก่อน แจ่าอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นเทรนด์เหล่านี้ในบ้านเราสักเท่าไร แต่ในต่างประเทศนั้นจะเป็นในลักษณะแบบนี้"

รับมือสังคมผู้สูงอายุ

อย่างที่ทราบกับดีว่า...ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทาง ดร.สุชาติ จึงบอกถึงแผนงานหรือนโยบายที่จะรับมือกับสถานการณ์ตรงนี้ไว้ว่า "ในเวทีของเอเชียแปซิฟิกในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาตนเองได้ โดยทางเราก็พูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร ให้มียาที่มีความปลอดภัย ให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่าย และให้เขาใช้เพื่อรักษาความเจ็บปวดเบื้องต้นได้ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจว่า ในความเจ็บปวดของพวกเราทุกคน น้อยครั้งมากที่จะเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรง ยกเว้นในเรื่องของอุบัติเหตุ แต่ในการทำงานของเราทุกๆ วัน ก็มักจะมีโอกาสเกิดได้เสมอ ฉะนั้นถ้าเรามีความสามารถในการเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้โดยพื้นฐาน ก็จะถือเป็นเรื่องราวที่ดี ซึ่งนั่นก็คือการปรับเปลี่ยนประเภทของยา จากที่ควบคุมมากๆ มาเป็นยาที่พวกเราสามารถหาซื้อได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อย่างที่ผ่านมาเราพยายามที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และปรับลดระดับยาจากยาอันตรายที่ต้องสั่งจากโดยเภสัชกร มาเป็นบรรจุเสร็จที่เราสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่ไม่ต้องมีเภสัชกรเป็นคนจ่าย และในทางปฏิบัติ เราก็ไม่ได้ให้ผู้บริโภครับประทานในปริมาณที่เยอะ กล่องหนึ่งก็ไม่เกิน 10 เม็ดเท่านั้น ซึ่งถ้าในวันข้างหน้าเรามีการปรับให้เข้าถึงได้ ก็จะถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราใช้เพียงแค่ในระยะสั้นๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอย่างที่เป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุ คือ ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วยตนเอง"

ยาไทยใน 3-5 ปีข้างหน้า

โดย ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ยังบอกถึง อุตสาหกรรมยาไทยในอีก 3-5 อีกว่า "ถ้าพูดถึงในเรื่องของเทรนด์รักษาสุขภาพ จะออกมาเป็นในลักษณะของคล้ายๆ กับการบำรุงร่างกายมากกว่าในต่อไป เพราะว่าในธรรมชาติของความเป็นยาปลอดภัยสุดก็คือกลุ่ม OTC กลุ่มยาที่รักษาได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้น เป็นเรื่องของเภสัชในการจัดการดูแล ซึ่งที่จะสังเกตได้ใน 3-5 ปีข้างหน้า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีจำนวนโรงงานส่วนหนึ่งปิดตัวหายไป หากไม่มีโปรดักส์ใหม่ๆ ออกมาเลย และจะมีจำนวนโรงงานอีกส่วนหนึ่งที่ขยายงานให้ใหญ่ขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมยาจะลีนมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าแม้จะมีโรงงานบางส่วนหายไป แต่ที่เหลืออยู่จะพยุงสังคมและขยายออกไปได้ เนื่องจากโรงงานพวกนี้จะมีโปรดักส์ใหม่ ที่เป็นไอเทมใหม่เข้ามาเพื่อชดเชย และอย่างที่ทราบกันว่า ธุรกิจยานั้นจะไม่มีความหวือหวาอย่างแน่นอน"

ทั้งนี้ นางสาวสายรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ยาไทยในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางบวกจากอัตราการเติบโตของตลาดที่มีตัวเลขประมาณ 4-7% ต่อปี และมีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากปัจจัยการบริโภคภายในประเทศที่สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่นำเข้ายาจากไทยเป็นหลัก โดยตลาดยาไทยมีมูลค่าและขนาดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทางซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรืองานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและการประชุมด้านส่วนผสมยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 560 ล้านคน ที่เข้าถึงด้านการดูแลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัยด้วย. 

 

ขอบคุณที่มา โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์